การให้โดยเสน่หา
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้มีการวางหลักกฎหมายเกี่ยวกับการให้โดยเสน่หาไว้ในมาตรา521ว่า
สัญญาให้ คือสัญญาที่บุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่อีกบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับ และผู้รับยอมรับทรัพย์สินนั้น
ในมาตรา523 การให้ย่อมสมบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้
และในมาตรา531ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
วางหลักทางกฎหมายไว้ว่า
อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณ ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
กรณีแรก ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้อันเป็นความผิดทางอาญาร้ายแรงหรือ
กรณีที่สอง ผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
กรณีที่สาม ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้ และผู้รับยังสามารถจะให้ได้
ถ้าเป็นกรณีที่เข้าข่ายตามนี้จะสามารถเพิกถอนการให้ด้วยเหตุประพฤติเนรคุณได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2085/2566
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 โจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชต ซึ่งข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยมีเนื้อความว่า “ตัวเองไม่ต้องคืนเงินพี่แล้วนะ แล้วพี่ก็จะไม่ทวงไม่ทำให้ตัวเองลำบากใจอีก พี่ขอโทษกับเรื่องราวที่ผ่านมา และอยากให้รู้ว่าพี่ยังรักตัวเองอยู่” ข้อความการสนทนาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะทวงเงินที่จำเลยยืมไปอีก เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลย ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นการปลดหนี้จำนวนอื่น ไม่ใช่หนี้จำนวน 105,000 บาท จำเลยยืมไปแล้วยังไม่ชำระคืนให้โจทก์ตามฟ้อง เห็นว่า โจทก์ส่งข้อความทางแอปพลิเคชันไลน์ทวงเงินคืนจากจำเลย และส่งข้อความถึงจำเลยให้เวลาจำเลยคืนเงินภายในเวลา 1 เดือน เมื่อจำเลยมีพยานหลักฐานคือข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางแอปพลิเคชันวีแชต ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทวงเงินคืนจากจำเลยว่าโจทก์ปลดหนี้ตามฟ้องให้จำเลยแล้ว แม้ข้อความจะไม่ได้ระบุชัดว่ามูลหนี้ใดและโจทก์อ้างว่าหมายถึงหนี้ จำนวนเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น แต่มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยืมจากโจทก์ก็คงมีเพียงมูลหนี้ 105,000 บาท เพียงอย่างเดียว เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับที่โจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามเพิ่มว่า โจทก์คบหากับจำเลย ระหว่างที่คบหาก็มีการให้ยืมเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างประมาณ 1,000 บาท ถึง 2,000 บาท บ้าง และให้ทั้งที่เป็นเงินสดและโอนเข้าบัญชีการให้ดังกล่าวเป็นการให้โดยเสน่หา ยิ่งสนับสนุนให้เห็นว่าเงินจำนวนเล็กน้อยที่โจทก์อ้างนั้นเป็นการให้โดยเสน่หาเฉกเช่นคนรักที่คบหากัน ไม่ใช่มูลหนี้อื่นตามที่โจทก์อ้าง และไม่ปรากฏว่าโจทก์นำพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีมูลหนี้ที่จำเลยยืมจากโจทก์จำนวนอื่นอีก แม้การแสดงเจตนาปลดหนี้จะใช้วิธีการส่งข้อความผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชต ซึ่งมิใช่การส่งผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ตามที่โจทก์เคยใช้ติดต่อกับจำเลย ก็ได้ความจากคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์เองว่า จำเลยตัดช่องทางการติดต่อกับโจทก์ โจทก์ได้ติดต่อจำเลยทางโทรศัพท์แต่จำเลยไม่รับ จึงติดต่อไปทางแอปพลิเคชันวีแชต จึงเชื่อว่าหนี้ที่โจทก์แสดงเจตนาปลดหนี้เป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมตามฟ้อง การส่งข้อความผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชตเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาใช้บังคับด้วย เมื่อโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ส่งข้อความดังกล่าวให้จำเลยผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชต ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนโจทก์ได้ ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 7, 8 พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้รับการปลดหนี้จากการกู้ยืมเงินตามฟ้องโจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์
#ทนายโตน