ตามประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดวางหลักทางกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำการโดยบันดาลโทสะไว้ในมาตรา72ประมวลกฎหมายอาญาว่า
ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้
ส่วนเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเป็นการบันดาลโทสะหรือไม่นั้นพิจารณาจาก
ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
ประการต่อมาคือผู้ที่ถูกข่มเหงเช่นนั้นเป็นสาเหตุทำให้ผู้กระทำนั้นบันดาลโทสะ
ประการสุดท้ายผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ
โดยการกระทำความผิดบันดาลโทสะนั้นผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำไปโดยความโกรธที่มาจากการข่มเหงและต้องกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นแต้ถ้าการข่มเหงขาดตอนไปแล้ว(ในที่หมายถึงเหตุการณ์ที่ถูกข่มเหงกับการกระทำที่จะเกิดอันเนื่องมาจากการบันดาลโทสะนั้นไม่ได้เกิดในห้วงเดียวกันหรือใกล้ๆกัน)ซึ่งถ้าหากขาดตอนไปเช่นนี้ก็ควรแก่การหมดโทสะได้แล้ว ซึ่งหากไปกระทำความผิดต่อผู้นั้นอีกก็อาจเป็นการกระทำไปเพื่อแก้แค้นอีก
ดังนั้นแล้วจึงทำให้การอ้างบันดาลโทสะจะอ้างไม่ได้ถ้าผู้กระทำความผิดได้เป็นผู้ก่อเหตุขึ้นมาก่อนกล่าวในอีกมุมนึงจะอ้างบันดาลโทสะไม่ได้หากไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ หรือหากกรณีที่สมัครใจวิวาทกับผู้อื่นกรณีเช่นนี้จะอ้างว่าถูกข่มเหงโดยไม่เป็นธรรมจึงบันดาลโทสะไม่ได้
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2564
การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 เป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือ ในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 และ ท. ทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้าน เชื่อว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้านและก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออกจากบ้านไปร้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 สามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 ตามจำเลยที่ 2 ไปร้านที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 2 พูดสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจำเลยที่ 1 จากโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 1 มีท่าทางเกรี้ยวกราดมากขึ้นและชี้หน้าพร้อมพูดว่า กูรู้ว่าใครร้องเรียน แล้วทำท่าทางลักษณะคล้ายล้วงอาวุธปืนออกมาจากกระเป๋าสะพายสีน้ำตาล เชื่อได้ว่าเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันที หาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
#ทนายโตน