ป้องกันvsจำเป็นตามประมวลกฎหมายอาญา

ในบทความนี้จะเป็นความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและการกระทำโดยจำเป็นในทางกฎหมายอาญา

ตามประมวลกฎหมายอาญาได้มีการวางหลักทางกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันไว้ในมาตรา68 ว่า

ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายทีใกล้จะถึงถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

หลักเกณฑ์ความผิดฐานนี้คือ

มีภยันตรายอันกิดจากการประทุษร่ายอันละเมิดต่อกฎหมาย

ภยันตรายนั้นใกล้จะถึง

ผู้กระทำการป้องกันต้องทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่นเพื่อให้พ้นจากภยันตรายนั้นๆ

โดยภัยอันตรายที่ว่าต้องเป็นภัยที่กระทบต่อสิทธิของบุคคลไม่ว่าจะเป็นในด้าน

ชีวิตร่างกาย

ชื่อเสียง

เสรีภาพ

ทรัพย์สิน

สิทธิอื่นใด

ตัวอย่างเช่น

นาย ก มีความโกรธนาย ข มาตั้งแต่ต้นจากการที่นาย ข เคยด่าทอตนนาย ก จึงนำไม้เบสบอลจะไปทุบตีนาย ข โดยทันใดขณะที่นาย ก กำลังจะทำการทุบตีด้วยไม้เบสบอลนาย ข ได้ชกไปที่นาย ก ก่อน เช่นนี้ในข้อเท็จจริงนี้จึงถือได้ว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วจึงไม่เป็นความผิดทางอาญาเหตุเพราะ

ประการแรก การเข้ามาดังกล่าวของนาย ก ถือเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงแล้วเพราะนาย ก กำลังจะทุบตีนาย ข ด้วยไม้เบสบอล

ประการต่อมา การตอบโต้กลับไปของนาย ข ก็ไม่ได้เกินสมควรแก่เหตุ เพราะใช้แค่เพียงการชกกลับไปทั้งที่อีกฝั่งนึงมีอาวุธโดยสภาพก็คือไม้เบสบอลที่กำลังทุบตีตน

ด้วยเหตุนี้เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่เป็นความผิดเพราะเป็นการกระทำโดยการป้องกัน

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7650/2553

จำเลยจะไม่ยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยกระทำโดยป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุขึ้นว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

จำเลยขึงเส้นลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้บริเวณหน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลย จึงเป็นเหตุให้เด็กชาย ก. บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลักลอบปีนหน้าต่างเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลยถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย แม้การกระทำของผู้ตายจะถือเป็นการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมายและต่อทรัพย์สินของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงถึง 220 โวลต์ ไปตามเส้นลวดที่ไม่มีฉนวนหุ้มนั้นย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่สามารถทำให้ผู้อื่นที่ไปสัมผัสถูกถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น แม้จะเป็นการป้องกันคนร้ายที่จะเข้ามาลักทรัพย์สินในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยกับภรรยาได้ แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตาม ป.อ. มาตรา 69

จำเป็น

กรณีที่ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยจำเป็นตามประมวลกฎหมายอาญาหมายถึงการทำความผิดเพราะตกอยู่ในที่บังคับ หรือในสภาพที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ขัดขืนได้ หรือต้องทำเพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่นพ้นจากภยันตราย ที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีใดได้

ตัวอย่างเช่น

นาย ก ถูกคนร้ายและพวกซึ่งมีอาวุธครบมือ ขู่บังคับให้เอาเรือไปรับคนร้ายข้ามฟากไปทำการปล้นทรัพย์ ถือได้ว่า

นาย ก กระทำการด้วยความจำเป็นไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

การกระทำโดยจำเป็นจะอยูในมาตรา67ประมวลกฎหมายอาญา

ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

(๑) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ

(๒) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2168/2528

  • โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายในเวลากลางคืน โดยใช้กำลังประทุษร้าย และช่วยกันพาตัวผู้เสียหายไปเสียจากเคหสถานดังกล่าว แล้วจำเลยได้ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,310, 364, 365, 91ระหว่างการพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดต่อเสรีภาพศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีในข้อหานี้จำเลยให้การปฏิเสธในข้อหาบุกรุกศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยกระทำผิดฐานบุกรุกตามฟ้อง แต่เป็นการกระทำโดยจำเป็นพอสมควรแก่เหตุ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3), 83, 67 ไม่ต้องรับโทษ แต่ให้คุมประพฤติจำเลยไว้ตามพระราชบัญญัติพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 64 ให้จำเลยมารายงานตัวต่อสถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดระยองทุก 4 เดือน มีกำหนด 1 ปีห้ามมิให้จำเลยสูบบุหรี่จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะโจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกาศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยกระทำความผิด แต่กระทำไปโดยจำเป็นพอสมควรแก่เหตุ กรณีจึงเข้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 ซึ่งบัญญัติว่าไม่ต้องรับโทษ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้อง ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185ดังกล่าว และเป็นการพิพากษายกฟ้องในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยมิได้กระทำผิดและพิพากษายกฟ้อง กรณีจึงเข้าบทบัญญัติมาตรา 220แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้พิเคราะห์ฎีกาของโจทก์แล้ว โจทก์คงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยตามนัยมาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาพิพากษายกฎีกาโจทก์

#ทนายโตน

#ทนายคดีแพ่งนิติกรรมสัญญาคดีปกครองคดีอาญาและคดีอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ

อ้างอิง

ประมวลกฎหมายอาญา

www.justicechannel.org/ทำความผิดด้วยความจำเป็น:คำนี้ในทางกฎหมายแปลว่าอะไร

www.dekasupreamcourt .or. th

เอกสารประกอบการสอนกฎหมายอาญาภาคทั่วไปคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ใส่ความเห็น