ความผิดฐานฉ้อโกง
สวัสดีครับกลับมาพบอีกครั้งกับทนายโตนและทีมงานในโพสต์นี้ทางทนายก็มีสาระความรู้ดีๆมาฝากอีกเช่นเคยซึ่งในครั้งนี้จะเป็นเรื่องนี้จะเป็นความผิดทางอาญาเกี่ยวกับควมผิดฐานฉ้อโกง
องค์ประกอบของการจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงคือ ต้องมีการหลอกลวงซึ่งการหลอกลวงจะมีอยู่2องค์ประกอบที่สำคัญที่จะเป็นการหลอกลวงในความผิดฐานนี้ได้คือ
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
การปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ต้องเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในอดีตหรือปัจจุบันแต่ไม่รวมเหตุการณ์ในอนาคต เว้นแต่ว่าเป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตโดยที่ผู้กล่าวได้ยืนยันข้อเท็จจริงในปัจจุบัน
ในแง่เจตนา
ความผิดฐานฉ้อโกงนั้นต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลในการลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือถอนทำลายเอกสารสิทธิ
และต้องมีเจตนาพิเศษคือ ต้องทำไปโดยทุจริต
การจะผิดฐานฉ้อโกงได้จึงต้องมีเจตนาหลอกลวงมาตั้งแต่ต้น
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จอาจทำด้วยวาจาเอกสารกริยาอาการหรือวิธีการอื่นใด เช่นการเอาของปลอมมาขายตามฎีกาที่471/2543 หรือการชี้ที่ดินผิดแปลงตามฎีกาที่1866/2543
ทั้งนี้ข้อความเท็จย่อมต้องหมายถึง ข้อความที่ไม่ตรงกับความจริง โดยผู้กระทำต้องรู้อยู่แล้วว่าข้อความนั้นไม่ตรงกับความจริง
ส่วนการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งนั้น หมายถึงการนิ่งเฉยไม่เปิดเผยความจริงซึ่งตนมีหน้าที่จะต้องเปิดเผย
หน้าที่ตามกฎหมายเช่น หน้าที่ตามสัญญา หน้าที่อันเกิดจากการกระทำก่อนๆของตนเป็นต้น
ความผิดฐานฉ้อโกง การจะเป็นความผิดได้ต้องมีผลปรากฎออกมา หากเป็นเพียงการหลอกลวง ด้วยการแสดงความเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้ทราบแต่ไม่ได้มีการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือผู้ถูกหลอกลวงยังไม่ได้ทำถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ การกระทำนั้นจะเป็นเพียงการพยายามฉ้อโกง
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10552/2553
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและด้วยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่นเพื่อขอกู้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 แต่ตามทางพิจารณาได้ความว่าเป็นเรื่องหลอกลวงมารดาผู้เสียหายที่ 2 มิใช่หลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เป็นเจ้าของเงินที่ให้กู้และเป็นผู้ทำสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้เงิน ซึ่งจำเลยผู้กู้นำโฉนดที่ดินของบุคคลอื่นมาหลอกลวง เพื่อให้ได้เงินที่กู้ยืมไป ดังนั้น ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว จึงเป็นผู้เสียหายในคดีฉ้อโกงด้วยคนหนึ่ง ข้อแตกต่างดังกล่าวนี้จึงไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงฟังลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
#ทนายโตน
#ทนายคดีแพ่งนิติกรรมสัญญาคดีอาญาคดีปกครองคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ