You are currently viewing พิพากษาตามคำขอ

พิพากษาตามคำขอ

ในการดำเนินคดีศาลจะตัดสินในสิ่งที่คู่ความไม่ได้ขอมาในคำฟ้องไม่ได้คดีดังต่อไปนี้จึงเป็นตัวอย่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/6 ถึงมาตรา 123/8 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลที่จะริบทรัพย์สินได้โดยโจทก์ไม่ต้องมีคำขอเช่นเดียวกับที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 บัญญัติเป็นมาตรการไว้ในมาตรา 31 และ 32 เมื่อการริบทรัพย์สินเป็นโทษตาม ป.อ. ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด หากโจทก์ประสงค์จะให้ศาลริบทรัพย์สินใดของจำเลยทั้งสองก็ต้องบรรยายไว้ในคำฟ้อง และมีคำขอท้ายฟ้องให้ริบด้วย ถึงแม้โจทก์จะนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนโดยชอบด้วยกฎหมาย และศาลรับฟังได้ว่าเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 เป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้มาโดยได้กระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 33 (2) ก็ตาม แต่การนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อยกเว้นให้โจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับเงินของจำเลยทั้งสองว่ายึดหรืออายัดไว้เป็นของกลางหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด และไม่ต้องมีคำขอท้ายฟ้องให้ริบเงินใด ๆ ดังนั้นเมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ามีการยึดหรืออายัดเงินใด ๆ ที่จำเลยทั้งสองได้มาโดยได้กระทำความผิด และคำขอท้ายฟ้องก็ไม่ได้มีคำขอให้ศาลสั่งริบเงินของจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจริบเงินของจำเลยทั้งสองในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ได้ อีกทั้งไม่อาจนำมาตรการริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบเงิน 1,822,494 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งกำหนดมูลค่าของสิ่งที่ริบเป็นเงิน 62,724,776 บาท จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ใส่ความเห็น