You are currently viewing คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2566
พนักงานอัยการจังหวัดแพร่โจทก์
นาย ช. กับพวกจำเลย

ป.วิ.อ มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี…(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” และมาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้อง” ซึ่งคำว่า “ฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย…”นั้น หมายถึง กรณีที่ศาลตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าคำฟ้องที่ยื่นนั้น โจทก์กระทำไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยเขตอำนาจศาลที่ยื่นฟ้องตามมาตรา 157 หรือกระทำไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 158 (1) ถึง (7) มาตรา 159 และมาตรา 160 หากผลการตรวจคำฟ้องปรากฏว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อตามฟ้องโจทก์ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์แล้ว แต่ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์อันเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.อ มาตรา 158 (7) ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ที่ศาลสามารถสั่งให้แก้ไขได้ การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องโดยไม่มีลายมือชื่อโจทก์ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ มาตรา 158 (7) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 และมิได้มีคำสั่งให้โจทก์ลงลายมือชื่อในฟ้องให้ถูกต้องเสียก่อน จึงเป็นข้อผิดพลาดที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์โดยจำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงประกอบอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนพบข้อผิดพลาดของโจทก์และศาลชั้นต้นดังกล่าว โดยศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีแล้ว ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องได้โดยมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้ เช่นนี้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะให้ศาลชั้นต้นสั่งโจทก์แก้ไขฟ้องโดยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในคำฟ้องให้ถูกต้องได้ การที่ศาลอุทธรณ์ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเสร็จแล้วให้ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์เพื่อดำเนินการต่อไป จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง และมาตรา 215 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 แล้ว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 4, 8, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83 และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้ประหารชีวิต ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ส่วนเมทแอมเฟตามีนของกลาง ศาลมีคำพิพากษาให้ริบในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 168/2561 ของศาลชั้นต้นแล้ว จึงให้ยกคำขอส่วนนี้

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้ประหารชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 23 และ 24 มีนาคม 2560 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายพัชระ นายอนุชาติหรือถี นายโชคชัย และนายประเสริฐ พร้อมตรวจยึดเมทแอมเฟตามีน 660,000 เม็ด รถยนต์สีขาว รถจักรยานยนต์ 2 คัน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 เครื่อง เป็นของกลาง เมทแอมเฟตามีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 13,654.599 กรัม นายพัชระกับพวก รวม 4 คนดังกล่าวถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเป็นการสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในฟ้องนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี… (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” และมาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้อง” ซึ่งคำว่า “ฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย…” ตามที่บัญญัติในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง นั้น หมายถึง กรณีที่ศาลตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าคำฟ้องที่ยื่นนั้น โจทก์กระทำไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยเขตอำนาจศาลที่ยื่นฟ้องตามมาตรา 157 หรือกระทำไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 158 (1) ถึง (7) มาตรา 159 และมาตรา 160 หากผลการตรวจคำฟ้องปรากฏว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อตามฟ้องโจทก์ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์แล้ว แต่ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์ อันเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ที่ศาลสามารถสั่งให้แก้ไขได้ การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องโดยไม่มีลายมือชื่อโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 และมิได้มีคำสั่งให้โจทก์ลงลายมือชื่อในฟ้องให้ถูกต้องเสียก่อน จึงเป็นข้อผิดพลาดที่สามารถให้แก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์โดยจำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงประกอบอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนพบข้อผิดพลาดของโจทก์และศาลชั้นต้นดังกล่าว โดยศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีแล้ว ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องได้โดยมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้ เช่นนี้ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะให้ศาลชั้นต้นสั่งโจทก์แก้ไขฟ้องโดยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในคำฟ้องให้ถูกต้องได้ การที่ศาลอุทธรณ์ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเสร็จแล้วให้ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์เพื่อดำเนินการต่อไป จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่ง และมาตรา 215 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง เนื่องจากมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ใช้บังคับ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกากำหนดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ใหม่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยที่พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ และให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวแทน แต่มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ยังคงให้บทบัญญัติที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายเดิมซึ่งถูกยกเลิกไปทั้งฉบับ มีผลใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับจนกว่าคดีถึงที่สุด บทสันนิษฐานตามกฎหมายเดิมในมาตรา 15 ที่ว่า การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณที่กำหนดให้สันนิษฐานว่า เป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงยังมีผลใช้บังคับต่อไปในคดีนี้ซึ่งยังไม่ถึงที่สุด และตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 1 นิยามคำว่า “จำหน่าย” ให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจำหน่าย การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงยังคงเป็นความผิดอยู่ แต่นำไปรวมไว้เป็นความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามกฎหมายใหม่ มาตรา 90, 145 และคำว่า “ความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า ความผิดเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติด เว้นแต่มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ และให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือหรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย เมื่อกฎหมายเดิมมาตรา 15 ประกอบมาตรา 66 บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาเพียงปริมาณของยาเสพติดเป็นสำคัญ แต่กฎหมายใหม่มาตรา 145 บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญ ไม่ได้ถือเอาเพียงปริมาณดังเช่นกฎหมายเดิมอีกต่อไป แม้ปริมาณยาเสพติดที่มากขึ้นอาจบ่งชี้ได้ถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ได้ระดับหนึ่งก็ตาม แต่ต้องมีพฤติการณ์และบทบาทหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย จึงจะมีความผิดตามกฎหมายใหม่มาตรา 145 วรรคสองและวรรคสามได้ ดังนั้น ถ้าผู้กระทำความผิดมีพฤติการณ์หรือบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดตามมาตรา 145 วรรคสองและวรรคสามได้ ส่วนการกำหนดโทษก็ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณทั้งกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ไม่ว่าในทางใด ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 145 วรรคใด นั้น คดีนี้จำเลยที่ 1 สมคบกับนายพัชระกับพวกกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และได้มีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน โดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่คอยดูต้นทางและนำหน้ารถยนต์สีขาวที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีน 660,000 เม็ดของกลาง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 63,842.090 กรัม จากจังหวัดเชียงรายไปจังหวัดแพร่ เพื่อนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป ต้องปรับบทกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม (2) ที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต สำหรับความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 8 วรรคสอง นั้น กฎหมายใหม่ยังคงบัญญัติให้เป็นความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 127 วรรคหนึ่ง ถ้าได้มีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ผู้สมคบนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามมาตรา 127 วรรคสอง ซึ่งถือความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 127 วรรคสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษและลดโทษให้จำเลยที่ 1 มานั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 127 วรรคสอง, 145 วรรคสาม (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน กับฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงบทเดียว ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ส่วนโทษของจำเลยที่ 1 และนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

(ชลิต กฐินะสมิต-สันติชัย วัฒนวิกย์กรรม์-ธัชพงศ์ วิสุทธิสังวร)
ศาลจังหวัดแพร่ – นายนันทวัฒน์ ลิ้มธัญลักษณ์
ศาลอุทธรณ์ – นายปฏิญญา สูตรสุวรรณ

ใส่ความเห็น